กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดโครงการพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิมและปลูกจิตสำนึกให้คนในพื้นที่ช่วยกันดูแลรักษาป่า
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เวลา 10.00 น. ณ บ้านห้วยจะค่าน หมู่ที่ 9 ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดโครงการพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนางมลสุดา ชำนิประศาสน์ นายกเหล่ากาชาดฯ นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชัยงใหม่ และนายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 พร้อมข้าราชการและประชาชนนักเรียน เข้าร่วมพิธี
การพลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจังหวัดเชียงใหม่มีกรอบแนวคิด 4 ด้านได้แก่ คน น้ำ ดิน และป่า ที่ต้องอยู่ร่วมกันแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งกันและกันโดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธารป่าไม้ ดิน และน้ำ ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต้อง มีความสมดุลและมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด หากทรัพยากรดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งถูกทำลายสูญเสียไป ความสมดุลระหว่างการที่มีอยู่ ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงและอาจทำให้พื้นที่ต้นน้ำลำธารนั้นเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ลงอย่างรวดเร็ว เช่น การบุกรุกแผ้วถางป่าไม้ เป็นเหตุให้ผิวดินขาดสิ่งปกคลุม ในการช่วยรักษาความชุ่มชื้นและช่วยดูดซึมน้ำซึ่งจะมีผลให้เกิดน้ำไหลบ่าไปบนผิวดินอย่างรวดเร็วจนกัดเซาะพังทลายดินผิวหน้าให้เสื่อมคุณภาพและอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลัน ในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนล่างตอนช่วงฤดูฝนหากในฤดูแล้งลำน้ำลำธารเหล่านั้นก็จะขาดแคลนน้ำใช้ ดังนั้นคนจึงเป็นตัวการสำคัญในการพลิกฟื้นพื้นป่า
จังหวัดเชียงใหม่จึงได้ดำเนินการตาม 7 ยุทธศาสตร์การจัดการคนดินน้ำป่าอย่างมีส่วนร่วมเพื่อพลิกฟื้นพื้นป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจังหวัดเชียงใหม่ โดยทำการ ปลุกกระแสการมีส่วนร่วมของคน ได้แก่ สร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน จัดระเบียบคนและพื้นที่ ป้องกันรักษาป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ สร้างองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้พื้นที่ที่เป็นป่าต้นน้ำนั่นเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นการขยายพื้นที่ทำกินไปในเขตป่าจึงลุกลามมากขึ้น ดังนั้น เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลจึงใช้ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา บูรณาการหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงจัดกิจกรรมปลูกป่าในพื้นที่บ้านจะค่าน โดยการว่านเมล็ดไม้ควบคู่กับการปลูกกล้าไม้ในพื้นที่จำนวน 360 ไร่ที่ได้รับมอบจากชาวบ้านซึ่งข้าราชการและชาวบ้านร่วมปลูกป่าและยังร่วมกันสร้างฝายอีกจำนวน 40 ฝายเพื่อคืนระบบนิเวศป่าต้นน้ำของชุมชน