เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 68 ที่ วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พระราชวชิรสิทธิ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง วรวิหาร พร้อมด้วย นายบวรเวท รุ่งรุจี ประธานคณะทำงานเร่งรัดการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก ,นายศุภฤกษ์ ภาวิไล คณะทำงานเร่งรัดการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก และนายธีรพัฒน์ ตันพิริยะกุล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เผยความคืบหน้า โครงการจัดทำเอกสารเสนอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณพื้นที่วัดสำคัญ 7 แห่ง วัดเชียงมั่น, วัดอุโมงค์, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร,วัดสวนดอก, วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร, วัดเจดีย์หลวง, และวัดเจ็ดยอด พร้อมทั้งแนวคูเมือง, กำแพงเมือง, แจ่ง 4 แห่ง, และประตูเมือง 5 แห่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้รับภารกิจจากทางจังหวัดเชียงใหม่ในการสนับสนุนกระบวนการจัดทำเอกสารนำเสนอฉบับสมบูรณ์ (Nomination Dossier) เพื่อเร่งดำเนินการจัดส่งเอกสารนำเสนอฯ ภายในวันที่ 30 มกราคม 2569 ให้เข้ารอบโดยผ่านการตรวจร่างเอกสาร จากศูนย์มรดกโลก และเข้ารอบการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2570 นี้ อันจะส่งผลให้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ได้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่เป็นแหล่งแรกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในอีกไม่นานนี้ ซึ่งประโยชน์ของการเป็นแหล่งมรดกโลก นั้นหลายด้าน อาทิ ด้านการปกป้อง คุ้มครอง การได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดและผู้เชี่ยวชาญองค์ความรู้การบูรณะหรือปกป้องโบราณสถาน โดยหน่วยงาน องค์กร จากทั้งในและนอกประเทศ ,ด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยว จะสร้างแรงดึงดูดและความสนใจของผู้มาเยือนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้มากยิ่งขึ้น ,ด้านการพัฒนา ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคม โดยเกิดการยกระดับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่รวมถึงด้านคมนาคมเป็นศูนย์กลาง บริการต่อเนื่องในภาคท่องเที่ยวทั้งระบบ สร้างงานเพิ่มรายได้ให้กับคนในท้องที่ ,ด้านความร่วมมือ ชุมชน ภาคประชาสังคม การอนุรักษ์ เพื่อส่งต่อกระบวนการดังกล่าวให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปให้มีความเข้าใจมี จิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนที่เป็นระบบและเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดเผยอีกว่า ตอนนี้ อบจ.เชียงใหม่ ได้เตรียมดำเนินการบินสำรวจพื้นที่ด้วยอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อเก็บภาพถ่ายมุมสูง นำไปประกอบจัดทำเอกสาร Nomination Dossier ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยกรมศิลปากรและ องค์การยูเนสโก (UNESCO) พร้อมคาดหวังว่า การดำเนินงานในครั้งนี้ จะนำไปสู่การขึ้นทะเบียนพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ให้ยั่งยืน ซึ่งการที่เชียงใหม่มุ่งมั่นผลักดัน 8 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสู่การเป็นมรดกโลกนั้น เปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่โอกาสอันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกอันล้ำค่าให้คงอยู่สืบไป การดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาสัมผัสเสน่ห์แห่งล้านนา อันจะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการได้รับการยกย่องในระดับสากลก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในมรดกของตนเอง สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้แก่คนรุ่นหลัง และแหล่งมรดกโลกเหล่านี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ พร้อมทั้งเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม กับนานาชาติ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนจะช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน